PM2.5 มาจากไหน?
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มาจากการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การผลิตของภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัยและธุรกิจการค้า และการเผาในที่โล่ง แบ่งได้เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและฝุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) เป็นต้น ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก(WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
ฝุ่นพิษขนาด PM2.5 คือภัยร้ายที่มองไม่เห็น มลพิษทางอากาศไม่ควรเป็นต้นทุนชีวิตที่ประชาชนต้องแลก กรมควบคุมมลพิษสามารถปกป้องชีวิตของคนไทยได้ ด้วยการลดปัญหามลพิษจากผู้ก่อมลพิษทั้งจากการเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินเดิมที่กำลังเดินเครื่องอยู่ด้วยการกำหนดมาตรการการวัด PM2.5 ที่ปลายปล่อง ประกอบกับใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI)เพื่อความแม่นยำในการระบุผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางป้องกัน นี่คือทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าอากาศในพื้นที่ที่เราอยู่นั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด